disableMouse

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

บทสัมภาษณ์ลงนิตยสาร Thai Info Biz เดือนธันวาคม 2555


การพัฒนาตัวเองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์แนะนำการพัฒนาของบริษัทหรือองค์กรภายในประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการ (TPS) กับโตโยต้า ภายใต้โครงการ AHRDIP ที่ดูแลโดย JTEPA ซึ่งในครั้งนี้ เราได้โอกาสในการพูดคุยกับ คุณพีระ กิตติวรรธนกุล ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทยมงคลสลักภัณฑ์ จำกัด (บริษัท ภายใต้การบริหารงานของ L.S.T. Group)

Q: เคยรู้จัก TPS มาก่อนหรือไม่ครับ?
P: ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์ จะชอบยก TPS ขึ้นเป็นตัวอย่างอยู่เรื่อยๆ แต่พอได้มาเจอของจริงแล้ว กลับไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ตรงไหนดี ก็เลยยังไม่ได้นำมาทดลองใช้จริงเสียที

Q: เหตุผลที่เข้าร่วม TPS คืออะไรครับ?
P: เดิมทีบริษัทของเราจะผลิตสินค้าตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง ทำให้ไม่ค่อยมีเก็บสต๊อคสินค้ามากนัก แต่ในส่วนของวัตถุดิบนั้นเราจะมีเก็บสต๊อคค่อนข้างมากครับ ในขณะที่สภาพพื้นที่ของโรงงานของเรานั้นค่อนข้างแคบ แต่เครื่องจักรกลับมีขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อตรงไหนมีที่ทาง เราก็นำของไปเก็บสต๊อคไว้ตรงนั้น จึงไม่ได้มีการจัดการให้เป็นระบบระเบียบ แล้วพอมันเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมโรงงานเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกแย่และคิดว่า มันน่าจะทำอะไรให้มันดีกว่านี้ได้บ้างนะ ในช่วงนั้นเอง ก็ได้ทราบถึงโครงการนี้จากคู่ค้า จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการครับ

Q: แล้วเมื่อได้เข้าร่วมโครงการแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ?
P: ตกใจมากเลยครับ เพราะสามารถลดปริมาณเก็บสต๊อคของวัตถุดิบได้ถึง 71% อีกทั้งยังทำให้อาคารที่ 2 มีระบบ Packing ตรงปลายทางของ Line ผลิตด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลยครับ ซึ่งตรงนี้เองส่งผลให้ย่นระยะของ Lead Time ได้ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้นอีกด้วย

Q: แล้ววางแผนว่าจะรักษามาตรฐานของ TPS และต่อยอดอย่างไรต่อไปครับ?
P: เริ่มแรกเลย บริษัทของเราได้ตั้งทีม TPS ขึ้นมาโดยมีเจ้าที่หน้าทั้งหมด 10 คน ซึ่งทีมนี้จะทำการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ได้รับมาจาก TPS เมื่อทำเช่นนี้ ในช่วงที่พัฒนาและต่อยอดความรู้ที่ได้มาจาก TPS นั้น จะทำให้เจ้าหน้าที่ในทีมๆนี้มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับ TPS มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งต่อไปถึงการวางโครงสร้างของโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเราจะใช้ TPS เข้ามาตั้งแต่เริ่มวางโครงสร้างเลย โดยให้ทีมๆนี้เป็นผู้คิด Layout ทั้งหมดครับ

Q: เชิญพูดเกี่ยวกับบริษัทของคุณพีระสักหน่อยครับ
P: บริษัทของเรามีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในปี 2014 ซึ่งหากโรงงานแห่งที่ 2 ของเราสร้างเสร็จ เราจะสามารถผลิตชิ้นงานที่นอกจากชิ้นงาน OEM ที่เราผลิตอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ซึ่งเราก็พร้อมที่จะให้บริการแก่ทุกๆท่าน โดยขณะนี้โรงงานของเราสามารถคุมคุณภาพชิ้นงานได้ถึง 50 micron ครับ

Comment จาก Mr. Kazuo Sakaki, MD of Toyota Asia Pacific Engineering & Manufacturing

บริษัท ไทยมงคลสลักภัณฑ์นั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บวัตถุดิบและ Layout ในระบบ Packing ทำให้สามารถร่นระยะ Lead Time ได้สำเร็จ หลักการคิดพื้นฐานก็คือ จำเป็นเมื่อไหร่ ค่อยซื้อ ค่อยนำมาใช้ โดยผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโรงงานแห่งใหม่จะแตกต่างจากเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ


ตัวย่อต่างๆ ในบทความ
JTEPA: Japan–Thailand Economic Partnership Agreement
AHRDIP: Automotive Human Resources Development Institute Project
TPS: Toyota Production System