disableMouse

วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2556

Eye Bolt (อายโบลท์) และ มัลติอายโบลท์ (Multi Eye Bolt) บทที่ 1

ก่อนจะไปถึง Multi Eye Bolt ผมขอแนะนำให้รู้จักเกี่ยวกับ Eye Bolt ที่เราใช้ๆกันอยู่ทั่วไปก่อนนะครับ

Eye Bolt (อายโบลท์) หรือสกรูห่วง (รูปประกอบ 1)

อายโบลท์ Eye Bolt
รูปประกอบ 1 อายโบลท์

         อายโบลท์นั้นเป็นสกรูชนิดหนึ่งที่มีหัวเป็นห่วงกลม มีลำตัวเป็นเกลียว โดยส่วนเกลียวนั้นจะฝังเข้าไปในชิ้นงาน และส่วนที่เป็นห่วงนั้นไว้ร้อยและมัดสายเคเบิ้ล (เชือก, ลวดสลิง, ฯลฯ)

         การใช้งานของอายโบลท์จะหลากหลายไปตามการประยุกต์ใช้ของแต่ละงาน แต่ละโปรเจค โดยหน้าที่หลักคือ จะเป็นตัวช่วยในการยกเพื่อเคลื่อนย้ายชิ้นงาน สินค้า หรือของที่มีน้ำหนักมากๆ

        อายโบลท์นั้นถูกออกแบบมาให้ใช้งานโดยการฝังเข้ากับชิ้นงานในแนวดิ่ง และยกขึ้นในแนวดิ่ง

        แต่ภายหลังมานี้ อายโบลท์ได้ถูกนำไปใช้ในการยกแม่พิมพ์ที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักชิ้นละหลายๆ ตัน โดยผู้ที่ใช้งานไม่ต้องการให้อายโบลท์นั้นฝังลงไปด้านหน้าของแม่พิมพ์เนื่องจากไม่ได้ออกแบบเผื่อพื้นที่ไว้ จึงทำให้ต้องฝังอายโบลท์เข้าด้านข้างของแม่พิมพ์แทน แต่ยกขึ้นในแนวดิ่ง ซึ่งเป็นวิธีใช้ที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากอายโบลท์ผลิตมาจากเหล็กเหนียว (SWRCH หรือ SS400 เป็นต้น) ซึ่งจะเกิดการเปลี่ยนรูป ยืดตัว หรือบิดงอได้ง่าย (รูปประกอบ 2)

รูปประกอบ 2 การใช้ Eye Bolt ผิดวิธี


        เมื่อ Eye Bolt มีการบิดงอที่ลำตัวเกิดขึ้น ก็จะเสี่ยงต่อการหัก หรือขาดได้ และสิ่งที่จะตามมาหาก Eye Bolt เกิดการขาดกลางอากาศขณะที่ทำการยกแม่พิมพ์น้ำหนักขนาด 5 ตันขึ้นไป แรงเหวี่ยงที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากจนถึงขั้น ผู้ปฏิบัติงานบาดเจ็บสาหัสหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากถูกเหวี่ยงมากระทบกับร่างกาย

        จึงมีผู้เล็งเห็นปัญหานี้ และผลิตสินค้าที่นำมาเพื่อใช้ในการดึงยกแนวดิ่ง ทั้งๆที่ฝังอายโบลท์เข้ากับงานแม่พิมพ์ทางด้านข้างโดยเฉพาะ เราเรียกสินค้าชนิดนี้ว่า Multi Eye Bolt (มัลติอายโบลท์) (รูปประกอบ 3)

มัลติอายโบลท์ Multi Eye Bolt
รูปประกอบ 3 Multi Eye Bolt (มัลติอายโบลท์)

สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับ Multi Eye Bolt จะมาต่อกันในบทที่ 2 นะครับ


สนับสนุนโดย L.S.T. Group - ผู้ค้าปลีกและส่ง สกรูน็อตและสลักภัณฑ์ทุกชนิด

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

สกรูน๊อตที่ทำมาจาสแตนเลส มีโอกาสโดนแม่เหล็กดูดได้!!?


        เชื่อว่าหลายๆ ท่านมีความเชื่อที่ว่า สินค้าที่ทำมาจากสแตนเลส แม่เหล็กจะต้องดูดไม่ติด เพราะถ้าหากแม่เหล็กดูดติด แปลว่าเป็นสแตนเลสเทียม
        ความเชื่อนี้ถูกต้องหรือไม่ ลองไปอ่านบทความด้านล่างดูนะครับ อาจยาวสักหน่อย แต่รับรองได้ว่าเป็นประโยชน์คุ้มค่ากับเวลาแน่นอนครับ


Hex Head Bolt A4 SUS-316


สลักภัณฑ์เหล็กกล้าไร้สนิมกับวิธีการตรวจสอบเหล็กกล้าไร้สนิม หรือ สเตนเลส
          สเตนเลสหรือเหล็กกล้าไร้สนิมเป็นวัสดุที่ทำจากโลหะผสมโดยมีองค์ประกอบหลักคือเหล็กและเจือโลหะชนิดอื่นๆ ได้แก่ โครเมียม นิคเกิล โมลิบดินัม และอื่นๆ เป็นต้น จุดประสงค์ที่ทำการผสมก็เพื่อให้โลหะมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปตามที่ต้องการ แต่จุดประสงค์หลักคือ เพื่อป้องกันการเกิดสนิม เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าโลหะที่เราพบเจอตามธรรมชาติจะอยู่ในรูปของออกไซด์ และนั่นก็คือสนิมของโลหะชนิดนั้นๆ เหล็กก็เป็นโลหะอย่างหนึ่งที่พบได้มากตามธรรมชาติ มนุษย์มีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ซึ่งเมื่อถูกน้ำกับออกซิเจนทำปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ผิวนอกที่สัมผัสถูกน้ำและออกซิเจนก็จะเกิดการออกซิเดชั่นแล้วกลายเป็นออกไซด์ของเหล็กหลุดร่อนไป เนื้อในก็จะถูกเผยออกมาเป็นผิวนอกแทน แล้วก็เกิดปฏิกริยาออกซิเดชั่นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทีละชั้นๆ ลึกลงไปในเนื้อโลหะ ต่อมาได้มีการสังเกตพบโดยนักโลหะวิทยาชื่อ Harry Brearley ว่าเมื่อมีการนำส่วนผสมโลหะชนิดหนึ่งชื่อว่าโครเมี่ยม ผสมกับเหล็กปริมาณ 13% เหล็กกล้าผสมชิ้นนี้ก็ไม่เกิดสนิม และเกิดกัดกร่อนแม้วางทิ้งเอาไว้หลายเดือน แต่แท้จริงแล้วกรณีของเหล็กกล้าโครเมี่ยมก็เกิดออกไซด์ของโครเมี่ยมที่ผิวเช่นกัน เพียงแต่สีของออกไซด์ไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นสีแดงเหมือนออกไซด์ของเหล็ก ทำให้เราสังเกตุไม่ออกว่าเนื้อสเตนเลสนั้นเกิดสนิม อีกทั้งขนาดโมเลกุลของโครเมียมออกไซด์ก็พอเหมาะกับขนาดโมเลกุลของเหล็กทำให้ออกไซด์ของโครเมียมเข้าไปแทรกแน่นอยู่ในเนื้อโลหะ จึงไม่หลุดร่อนออกมาเป็นแผ่น ดังในกรณีออกไซด์ของเหล็ก โดยหลักการแล้วเหล็กกล้าไร้สนิมใช้ผิวที่เป็นออกไซด์ไปแล้วมาป้องกันการเกิดออกซิเดชั่นนั่นเอง

แม่เหล็กกับสลักภัณฑ์เหล็กกล้าไร้สนิม
          สลักภัณฑ์มีบทบาทมากมาย มีการนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในงานอุตสาหกรรมต่างๆ ทุกอุตสาหกรรม เนื่องจากสลักภัณฑ์เป็นชิ้นส่วนที่มีความสำคัญอย่างมาก อาจจะดูเล็กเมื่อเทียบกับขนาดของชิ้นงานแต่การเลือกซื้อสลักภัณฑ์ที่ถูกต้องตามความต้องการจึงมีส่วนสำคัญมากและยังเป็นชิ้นส่วนที่ต้องการความถูกต้องตรงตามข้อกำหนด หลายๆ ท่านก็มีวิธีการตรวจสอบการเลือกซื้อวัตถุดิบ สินค้าต่างๆ นานา ซึ่งโดยทั่วไปก็จะใช้คุณสมบัติทางกายภาพของวัสดุชนิดนั้นมาเป็นตัวตัดสิน สำหรับเหล็กกล้าไร้สนิมก็มีคุณสมบัติทางกายภาพเช่นกัน ได้แก่ สีผิว ความถ่วงจำเพาะ ความต้านทานการกัดกร่อน คุณสมบัติการซึมซาบได้ของสนามแม่เหล็ก เป็นต้น
          สลักภัณฑ์สเตนเลสที่ซื้อมาพอเอาแม่เหล็กไปดูดติดก็บอกว่านี่ไม่ใช่สเตนเลสนี่เป็นวิธีการตรวจสอบสลักภัณฑ์สเตนเลสของผู้ซื้อทั่วๆ ไปและพบเห็นบ่อยมาก ซึ่งมันก็ไม่ผิดซะทีเดียวเว้นแต่ว่าวิธีการนี้ยังไม่ดีพอที่จะนำมาคัดแยกสลักภัณฑ์สเตนเลสอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากวิธีการนี้มีการนำความรู้เพียงผิวเผินมาเป็นตัวตัดสิน และใช้เกณฑ์การตัดสินอย่างไม่เพียงพอ นั่นก็คือประโยคที่ว่า สเตนเลสเป็นโลหะที่สนามแม่เหล็กไม่สามารถซึมซาบได้ แต่แท้จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่สามารถทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมกลายมาเป็นโลหะที่สนามแม่เหล็กซึมซาบได้ หากเรามาทำความเข้าใจถึงสาเหตุของการซึมซาบได้ของสนามแม่เหล็ก ก็จะทำให้เราทราบว่าควรเลือกวิธีการใดมาใช้ในการตรวจสอบสลักภัณฑ์สเตนเลส
        เหล็กกล้าไร้สนิมสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทได้แก่ Ferritic, Austenitic, Martensitic, Duplex และ Precipitate-hardened เหล็กกล้าไร้สนิม 4 ประเภทแรก แบ่งตามโครงสร้างจุลภาค (Micorstructure) ส่วนประเภทสุดท้ายขึ้นกับกระบวนการอบชุบทางความร้อน และมีเหล็กกล้าไร้สนิมเพียงประเภทเดียวที่สนามแม่เหล็กซึมซาบไม่ได้คือ Austenitic และบังเอิญว่า Austenitic เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมประเภทที่ใช้ในท้องตลาดทั่วไปมากที่สุด ได้แก่เหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 และ 316
ตารางแสดงประเภทของเหล็กกล้าไร้สนิมและคุณสมบัติบางส่วนโดยสังเขป
ประเภท
โครงสร้างผลึก
Crystal structure
ความซึมซาบแม่เหล็ก2
ยกตัวอย่างเกรดสเตนเลส
Ferritic
BCC1
ซึมซาบได้
405, 430, 442
Austenitic
FCC1
ซึมซาบไม่ได้
201, 301, 302, 303, 304, 316
Martensitic
BCT1
ซึมซาบได้
403, 410, 416
Duplex
ผสม
ซึมซาบได้
2205, Alloy 255
Precipitate-Hardened
ผสม
ซึมซาบได้
17-4PH, PH 17-7

1.     BCC – Body Centered Cubic, FCC – Face Centered Cubic, BCT – Body Centered Tetragonal
2.     โลหะที่มีความซึมซาบแม่เหล็กหมายถึง โลหะที่สนามแม่เหล็กสามารถผ่านเนื้อโลหะได้

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของผู้เขียนก็ยังเคยพบโลหะที่มีโครงสร้าง Austenitc แต่แม่เหล็กดูดไม่ติดมาแล้ว เนื่องจากโครงสร้าง  Austenitic เกิดได้จากโครงสร้างที่เป็น FCC และกรณีที่เป็นประเด็นก็คือโครงสร้าง Fe-Mn-C กล่าวคือแม้จะมีคุณสมบัติแม่เหล็กซึมซาบไม่ได้แต่ก็ยังเกิดการกัดกร่อนอย่างรุนแรงจากสารละลายอย่างน้ำเกลือได้เช่นกัน ซึ่งคุณสมบัติหลักของเหล็กกล้าไร้สนิมคือไม่เกิดออกซิเดชั่น และไม่เกิดการกัดกร่อน

เหล็กกล้าไร้สนิมประเภท Austenitic มีความซึมซาบแม่เหล็กได้อย่างไร?

   โครงสร้างจุลภาคของโลหะ จะเป็นตัวกำหนดว่าเหล็กกล้าไร้สนิมมีอำนาจแม่เหล็กเกิดขึ้นหรือไม่ เหล็กกล้าไร้สนิมประเภท Austenitic มีโครงสร้างผลึกที่เป็นแบบ FCC และเป็นโครงสร้างเดียวที่ไม่ทำให้เหล็กกล้าไร้สนิมเกิดความซึมซาบแม่เหล็ก แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนของโครงสร้างจุลภาคไปเป็นประเภทอื่นนอกจาก Austenitic ปริมาณมีมากพอก็จะทำให้มีสภาพสนามแม่เหล็กซึมซาบได้เกิดขึ้น
โครงสร้างจุลภาคของเหล็กกล้าไร้สนิม Austenitic สามารถเปลี่ยนไปเป็นโครงสร้างจุลภาค Martensitic ได้ 2 อย่าง
           อย่างแรกคือการที่เหล็กกล้าไร้สนิมถูกให้ความร้อนจนไปจนถึงอุณหภูมิที่โครงสร้างจุลภาคกลายเป็น Austenitic แล้วถูกปล่อยให้เย็นตัวลงอย่างช้าๆ โครงสร้างจุลภาคจะเรียงตัวใหม่กลายเป็น Martensitic โดยปกติแล้วการผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมจะต้องการให้โครงสร้างเป็น Austenitic เมื่อโครงสร้างจุลภาคของเหล็กกล้าไร้สนิมกลายเป็น Austenitic แล้ว ก็จะนำมาทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วเพื่อให้โครงสร้างจุลภาคอยู่ในสภาวะ Austenitic แม้ว่าเหล็กกล้าไร้สนิมที่ได้จากโรงงานผลิตจะมีโครงสร้างจุลภาคอยู่ในสภาวะ Austenitic วิธีการตรวจสอบของโรงงานผลิตเหล็กกล้าไร้สนิมก็ไม่ได้ใช้การตรวจสอบด้วยแม่เหล็ก แต่ใช้วิธี Dye Penetrant Inspection หรือเรียกว่า Liquid Penetrant Inspection
      อย่างที่สอง เกิดได้จากการขึ้นรูปแบบเย็น ซึ่งโครงสร้างจุลภาคจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า Martensitic Stress Induced Transformation (MSIT) เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างจุลภาคจาก Austenitic กลายมาเป็น Martensitic การทุบ การดึง หรือการกระทำใดๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของเหล็กกล้าไร้สนิมในสภาวะอุณหภูมิห้อง ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงของรูปทรงมากก็ยิ่งทำให้เกิดโครงสร้างจุลภาคเป็น Martensitic มากยิ่งขึ้น ซึ่งการขึ้นรูปเย็นเป็นกระบวนการที่ใช้เป็นปกติในกระบวนการผลิตสลักภัณฑ์ หากพิจารณาตั้งแต่วัตถุดิบที่ใช้ต้องผ่านกระบวนการทางการเปลี่ยนรูปตลอดตั้งแต่ต้นจนจบ ได้แก่ การดึงลดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางวัตถุดิบ การปั๊มขึ้นรูป และการรีดเกลียว กระบวนการเหล่านี้ทำให้เกิดสัดส่วนโครงสร้างจุลภาคประเภท Martensitic มากเพียงพอที่จะทำให้สนามแม่เหล็กซึมซาบสลักภัณฑ์สเตนเลสได้



ปริมาณโลหะที่เจือก็มีผลกับการเปลี่ยนโครงสร้างจุลภาคจากการขึ้นรูปเย็นของเหล็กกล้าไร้สนิมและส่งผลให้เกิดความซึมซาบแม่เหล็ก

          ธาตุที่เจือในเหล็กกล้าไร้สนิมได้แก่ นิคเกิล คาร์บอน ไนโตรเจน ก็มีผลกับความไวในการเปลี่ยนโครงสร้างจากกระบวนการ MSIT เหล็กกล้าไร้สนิมที่มีการเจือน้อยกว่าเมื่อถูกกระทำการขึ้นรูปเย็นโครงสร้างจุลภาคของเหล็กกล้าไร้สนิมที่เจือธาตุดังกล่าวน้อยกว่าจะเปลี่ยนเป็น Martensitic ได้ง่ายกว่าเหล็กกล้าไร้สนิมที่มีการเจือธาตุดังกล่าวมากกว่า รูปด้านล่าง รูปที่ 3 แสดงให้เห็นถึงเหล็กกล้าไร้สนิมมีความซึมซาบแม่เหล็กมากขึ้นเมื่อผ่านกระบวนการขึ้นรูปเย็น และรูปที่ 4 แสดงให้เห็นถึงเหล็กกล้าไร้สนิมมีความซึมซาบแม่เหล็กเพิ่มขึ้นเมื่อค่าUltimate Tensile strength สูงขึ้น บ่อยครั้งที่เราจะพบว่าสลักภัณฑ์สเตนเลส 304 ดูดติดด้วยแม่เหล็กก็เพราะมีการขึ้นรูปเย็นซึ่งทำให้โครงสร้างจุลภาคเปลี่ยนแปลงเป็น Martensitic มากเพียงพอให้แม่เหล็กดูดติดได้       

                                               

รูปที่ 3 The lower alloy steels yield a higher magnetism with the same amount of cold working.        
                                               


รูปที่ 4 Magnetism of stainless steel (cold worked) vs. tensile strength.

ที่มา: Carpenter Stainless Steel, Selection Alloy Data Fabrication, 1991, page 243.



การควบคุมอำนาจแม่เหล็กในเหล็กกล้าไร้สนิม

        อย่างไรก็ตามในบางอุตสาหกรรมก็ต้องการสลักภัณฑ์สเตนเลสที่ปลอดสภาพอำนาจแม่เหล็ก ซึ่งก็มีทั้งวิธีการลดการเกิดความซึมซาบแม่เหล็กจากกระบวนการผลิต และวิธีการกำจัดโดยนำสลักภัณฑ์สเตนเลสไปผ่านกระบวนการอบทางความร้อนแต่อย่างไรก็ตามก็ไม่ได้ทำให้อำนาจแม่เหล็กกลายเป็น 0 ถึงแม้ว่าการอบอ่อนซ้ำก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากคุณสมบัติบางประการของวัสดุ และเหตุผลทางด้านต้นทุน จึงต้องทำความเข้าใจระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ว่าปริมาณอำนาจแม่เหล็กตกค้างในสลักภัณฑ์สเตนเลสมีค่าเป็นเท่าไหร่ที่ยอมรับได้




การตรวจสอบเกรดของเหล็กกล้าไร้สนิม

          วิธีการตรวจสอบเกรดของเหล็กกล้าไร้สนิมที่แม่นยำที่สุดจะใช้เครื่อง Spectro Analysis โดยอาศัยหลักการคือธาตุทุกธาตุประกอบขึ้นจากโปรตอน นิวตรอน และอิเลคตรอน ซึ่งปกติจะอยู่ในสภาวะเสถียร อิเลคตรอนจะวิ่งวนรอบนิวเคลียสที่วงโคจรของธาตุนั้นๆ ในสภาวะเสถียรจะมีผลรวมของการดูดและรับพลังงานรวมเป็น 0 เมื่อธาตุได้รับพลังงานก็จะทำให้อิเลคตรอนที่โคจรรอบนิวเคลียสของธาตุนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงชั้นของวงโคจร และโดยธรรมชาติเมื่อได้รับพลังงานเข้าไปทำให้โมเลกุลเกิดความไม่สมดุล ก็ต้องคายพลังงานกลับคืน โดยสามารถวัดจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ปล่อยออกมาได้เรียกว่า Spectrum โดยที่ธาตุแต่ละตัวจะมีรูปแบบของ Spectrum ที่ปล่อยออกมาเฉพาะตัว ดังนั้นเมื่อนำ Spectrum มาวิเคราะห์ก็จะทำให้เราทราบได้ว่าเหล็กกล้าไร้สนิมนี้ประกอบจากธาตุอะไร มีสัดส่วนเท่าไหร่บ้าง และสามารถออกเป็นใบรับรองวัตถุดิบที่ใช้ได้ ผู้ใช้งานควรขอใบรับรองนี้เพื่อความมั่นใจในการเลือกสลักภัณฑ์

          วิธีการตรวจสอบโดยปฏิกิริยาเคมีก็เป็นอีกทางหนึ่ง ผู้ผลิตน้ำยาตรวจสอบสเตนเลสบางยี่ห้อก็มีผลิตภัณฑ์สำหรับทดสอบสเตนเลสเช่นกัน แต่ส่วนผสมของน้ำยาตรวจสอบแต่ละยี่ห้อก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรู้ การทดลองของห้องปฏิบัติการว่าจะพัฒนาน้ำยาเคมีไปอย่างไรราคา ประสิทธิภาพ ก็แตกต่างกันไป โดยส่วนมากจะทำให้สีเปลี่ยนไปตามน้ำยาเคมีที่ใช้ทดสอบ

          อย่างไรก็ตามวิธีการตรวจสอบทั้งหมดที่ได้กล่าวไปยังคงเป็นวิธีการตรวจสอบแบบทำลายชิ้นงาน สลักภัณฑ์ที่ผู้ใช้งานได้รับไปจึงไม่ใช่ตัวที่ผ่านการทดสอบมาโดยตรง แต่อาศัยว่าวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตหลอมมาจากโลหะก้อนเดียวกัน และกระบวนการผลิตที่เหมือนกัน โดยผู้ใช้งานควรอ้างอิงถึงหมายเลข Lot ที่ทำการผลิตและหมายเลข Heat บนฉลากของวัตถุดิบ ต้องเป็นหมายเลขเดียวกันกับที่ระบุอยู่บนใบรับรองสินค้า เพื่อความมั่นใจว่าสลักภัณฑ์สเตนเลสที่ได้รับไปเป็นเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดตามที่ต้องการ และการออกแบบเลือกใช้เหล็กกล้าไร้สนิม ผู้ใช้ควรจะตรวจสอบว่าเหล็กกล้าไร้สนิมที่จะนำมาใช้งาน ต้องใช้ในสภาวะแวดล้อมอย่างไร เพราะเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดหนึ่งๆ ไม่สามารถป้องกันการกัดกร่อนจากสารละลายได้ทุกอย่าง โดยดูได้จากตารางการกัดกร่อนในเอกสารอ้างอิง [2]

          สำหรับวิธีการตรวจสอบสลักภัณฑ์สเตนเลสกรณีที่ไม่มีใบรับรองสินค้า เป็นวิธีต้นทุนต่ำสำหรับการตรวจสอบเหล็กกล้าไร้สนิม 304 และ 316 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเหล็กกล้าไร้สนิมมีคุณสมบัติป้องกันการเกิดออกซิเดชั่น และต้านทานการกัดกร่อนจากกรด เบส และเกลือ แต่ก็ไม่ได้ทนการกัดกร่อนทุกชนิด ให้ใช้เกลือแกงหรือ Sodium Chloride (NaCl) ละลายน้ำ แล้วนำสลักภัณฑ์สเตนเลสแช่ทิ้งไว้ 1 คืน หากทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด 304 หรือ 316 จะไม่เป็นสนิมแดง

อ้างอิงจาก

[3] Carpenter Stainless Steel, Selection Alloy Data Fabrication, 1991

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

บทสัมภาษณ์ลงนิตยสาร Thai Info Biz เดือนธันวาคม 2555


การพัฒนาตัวเองของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย

คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์แนะนำการพัฒนาของบริษัทหรือองค์กรภายในประเทศที่ได้เข้าร่วมโครงการ (TPS) กับโตโยต้า ภายใต้โครงการ AHRDIP ที่ดูแลโดย JTEPA ซึ่งในครั้งนี้ เราได้โอกาสในการพูดคุยกับ คุณพีระ กิตติวรรธนกุล ผู้จัดการโรงงาน บริษัท ไทยมงคลสลักภัณฑ์ จำกัด (บริษัท ภายใต้การบริหารงานของ L.S.T. Group)

Q: เคยรู้จัก TPS มาก่อนหรือไม่ครับ?
P: ตอนที่ผมยังเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย อาจารย์ จะชอบยก TPS ขึ้นเป็นตัวอย่างอยู่เรื่อยๆ แต่พอได้มาเจอของจริงแล้ว กลับไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร ตรงไหนดี ก็เลยยังไม่ได้นำมาทดลองใช้จริงเสียที

Q: เหตุผลที่เข้าร่วม TPS คืออะไรครับ?
P: เดิมทีบริษัทของเราจะผลิตสินค้าตามจำนวนที่ลูกค้าสั่ง ทำให้ไม่ค่อยมีเก็บสต๊อคสินค้ามากนัก แต่ในส่วนของวัตถุดิบนั้นเราจะมีเก็บสต๊อคค่อนข้างมากครับ ในขณะที่สภาพพื้นที่ของโรงงานของเรานั้นค่อนข้างแคบ แต่เครื่องจักรกลับมีขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นเมื่อตรงไหนมีที่ทาง เราก็นำของไปเก็บสต๊อคไว้ตรงนั้น จึงไม่ได้มีการจัดการให้เป็นระบบระเบียบ แล้วพอมันเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ เมื่อมีผู้มาเยี่ยมชมโรงงานเรื่อยๆ ทำให้รู้สึกแย่และคิดว่า มันน่าจะทำอะไรให้มันดีกว่านี้ได้บ้างนะ ในช่วงนั้นเอง ก็ได้ทราบถึงโครงการนี้จากคู่ค้า จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการครับ

Q: แล้วเมื่อได้เข้าร่วมโครงการแล้วเป็นอย่างไรบ้างครับ?
P: ตกใจมากเลยครับ เพราะสามารถลดปริมาณเก็บสต๊อคของวัตถุดิบได้ถึง 71% อีกทั้งยังทำให้อาคารที่ 2 มีระบบ Packing ตรงปลายทางของ Line ผลิตด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเราไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลยครับ ซึ่งตรงนี้เองส่งผลให้ย่นระยะของ Lead Time ได้ ทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้นอีกด้วย

Q: แล้ววางแผนว่าจะรักษามาตรฐานของ TPS และต่อยอดอย่างไรต่อไปครับ?
P: เริ่มแรกเลย บริษัทของเราได้ตั้งทีม TPS ขึ้นมาโดยมีเจ้าที่หน้าทั้งหมด 10 คน ซึ่งทีมนี้จะทำการพัฒนาต่อยอดสิ่งที่ได้รับมาจาก TPS เมื่อทำเช่นนี้ ในช่วงที่พัฒนาและต่อยอดความรู้ที่ได้มาจาก TPS นั้น จะทำให้เจ้าหน้าที่ในทีมๆนี้มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับ TPS มากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งต่อไปถึงการวางโครงสร้างของโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเราจะใช้ TPS เข้ามาตั้งแต่เริ่มวางโครงสร้างเลย โดยให้ทีมๆนี้เป็นผู้คิด Layout ทั้งหมดครับ

Q: เชิญพูดเกี่ยวกับบริษัทของคุณพีระสักหน่อยครับ
P: บริษัทของเรามีแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ในปี 2014 ซึ่งหากโรงงานแห่งที่ 2 ของเราสร้างเสร็จ เราจะสามารถผลิตชิ้นงานที่นอกจากชิ้นงาน OEM ที่เราผลิตอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ ซึ่งเราก็พร้อมที่จะให้บริการแก่ทุกๆท่าน โดยขณะนี้โรงงานของเราสามารถคุมคุณภาพชิ้นงานได้ถึง 50 micron ครับ

Comment จาก Mr. Kazuo Sakaki, MD of Toyota Asia Pacific Engineering & Manufacturing

บริษัท ไทยมงคลสลักภัณฑ์นั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บวัตถุดิบและ Layout ในระบบ Packing ทำให้สามารถร่นระยะ Lead Time ได้สำเร็จ หลักการคิดพื้นฐานก็คือ จำเป็นเมื่อไหร่ ค่อยซื้อ ค่อยนำมาใช้ โดยผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโรงงานแห่งใหม่จะแตกต่างจากเดิมอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ


ตัวย่อต่างๆ ในบทความ
JTEPA: Japan–Thailand Economic Partnership Agreement
AHRDIP: Automotive Human Resources Development Institute Project
TPS: Toyota Production System